บัฟเฟตต์ภาคแรก



ตอนที่ 10 อิสรภาพทางการเงิน – บัฟเฟตต์ภาคแรก
บัฟเฟตต์ภาคแรก โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ชีวิตและการลงทุนของวอเร็น บัฟเฟตต์ ในปัจจุบัน
เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง
ทั้งในหมู่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปในอเมริกา ในเมืองไทยเองนั้น
นักลงทุนจำนวนมากน่าจะรู้จักเขาพอสมควร
นักลงทุนหลายคนนับถือและยึดถือเขา
เป็นแบบอย่างในการลงทุน

วอร์เรน บัฟเฟตต์
ภาพจากปกหนังสือ วอร์เรน บัฟเฟตต์

บทความเกี่ยวกับวอเร็น บัฟเฟตต์
ถูกเขียนขึ้นหลาย ๆ ครั้ง ทั้งในคอลัมน์นี้และในที่อื่น ๆ
ส่วนใหญ่แล้วพูดถึงสิ่งที่เขาทำ ผลงาน พอร์ตโฟลิโอ
และความมั่งคั่งของเขาเมื่อเขาดังและประสบความสำเร็จ
เป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว
แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันสำหรับ Value Investor ทั่ว ๆ ไปนั้น
น่าจะอยู่ที่ชีวิตของบัฟเฟตต์
ในขณะที่เขายังไม่ดัง ไม่เป็นที่รู้จัก
ในเวลาที่คนยังถามว่า ใครนะวอเร็นบัฟเฟตต์ ?

เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ นักลงทุนควรศึกษาว่า
วอเร็นบัฟเฟตต์ทำอย่างไรถึงได้
ประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้
และเราจะสามารถเดินตามรอยเขาได้แค่ไหน

วอเร็น บัฟเฟตต์ ถูกกล่าวขวัญเป็นครั้งแรก
ในหนังสือชื่อ Supermoney ซึ่งเขียนโดย
“Adam Smith” ผู้โด่งดัง หรือชื่อจริงคือ George Goodman
บทความเขียนขึ้นในช่วงประมาณปี 1970
ซึ่งเป็นเสมือนการเปิดตัวบัฟเฟตต์ ในฐานะของเซียนหุ้น
ที่มีผลงานโดดเด่นโดยใช้แนวทางของ
เบน เกรแฮม ที่แปลกใหม่ และไม่เหมือนใคร
ในวงการผู้บริหารเงินมืออาชีพทั้งหลายในยุคนั้น
และต่อไปนี้คือสาระสำคัญบางส่วนที่น่าสนใจ

อดัม สมิทธ์ เล่าว่าเขารู้จักบัฟเฟตต์
เนื่องจากเบนเกรแฮม ขอให้เขาช่วยเขียน
The Intelligent Investor
ในการพิมพ์ครั้งใหม่ เกรแฮมบอกเขาว่า
มีคนเพียงสองคน ที่เขาอยากให้ร่วมเขียนด้วยคือเขาและ
วอเร็น บัฟเฟตต์ นั่นทำให้อดัม สมิทธ์ งง
และอยากรู้จักว่าใครคือวอเร็น บัฟเฟตต์ เพราะในขณะนั้น
ไม่มีใครในวงการหุ้น แม้แต่ตัวเขาเองที่เป็นนักเขียนเรื่องหุ้นชื่อ
ดังรู้จักบัฟเฟตต์

เมื่อได้พบและรู้จักบัฟเฟตต์แล้ว
อดัม สมิทธ์ ได้เขียนเรื่องของเขาโดยบอกว่า
สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับ บัฟเฟตต์ นั้นก็คือ เขาเข้าข่ายที่จะเรียกได้ว่าเป็น
นักบริหารเงินลงทุนที่โดดเด่นในยุคสมัยได้อย่างสบายมาก

แต่สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือ
เขาทำมันได้ด้วยปรัชญาการลงทุนของอีกยุคสมัยหนึ่ง นั่นก็คือ
ในขณะที่พวกสิงห์ปืนไวในช่วงทศวรรษที่ 1960
กำลังโปรโมทกันเองในพับชื่อดังที่พวกเขาชอบพบกัน
แล้วก็กลับมาเฝ้าจอหุ้นในออฟฟิสที่นิวยอร์ค
บัฟเฟตต์ก็กำลังทำผลงานการลงทุนที่ดีที่สุด
ในวงการจากเมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา

โดยที่ไม่มีจอดูหุ้น ไม่มีพับชื่อดัง
ไม่มีการกัดเล็บ ไม่มียาคลายเครียด ไม่มียารักษาโรคกระเพาะ
ไม่มีเกมแบ็คแกมมอนหลังจากตลาดปิด ไม่มีหุ้นที่ราคาวิ่งขึ้นเหมือนติดจรวด
ไม่มีหุ้นเทคโนโลยี ไม่มีหุ้นบริษัทขนาดใหญ่
ไม่มีหุ้นแบบ “Concept Stock”
หรือหุ้นที่กำลังนิยมกันมากในช่วงนั้น



มีแต่เพียง การลงทุนแบบ เบน เกรแฮม พันธุ์แท้
ที่ถูกประยุคใช้อย่างเสมอต้นเสมอปลายสมบูรณ์แบบ
นั่นก็คือ หุ้นธรรมดา ๆ ที่เงียบเหงา เข้าใจง่าย
และมีเวลาเหลือเฟือให้กับลูก ๆ
สำหรับเกมแฮนด์บอล และการฟังเสียงข้าวโพด
ที่กำลังแตกยอดในท้องทุ่ง

ก็จริง ที่บัฟเฟตต์ ไม่ได้บริหารกองทุนรวม
ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องถูกกดดันจากเซลแมน
ที่ต้องการขายหน่วยลงทุน ในขณะที่เขาสร้างสถิติ
การลงทุนด้วยปรัชญาการลงทุน
ของอีกยุคสมัยหนึ่ง หุ้นตัวที่ทำกำไรมาก ๆ
บางตัวก็เข้าข่ายเป็นหุ้นตามปรัชญาการลงทุน
แบบหุ้นโตเร็ว

เขาไม่มีคณะกรรมการที่จะต้องขออนุมัติหรือรายงาน
เขาไม่มีเจ้านาย เขาไม่ทำตัวเป็นข่าว ที่จริงสื่อเองก็ไม่สนใจเขา
ถ้าเขาซื้อหุ้นในบริษัทมากจนมีอำนาจ
ในการควบคุมเขาก็พร้อมที่จะเข้าไปคุม ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เขามีอิสระ
และคล่องตัวจากข้อจำกัดทั้งหลาย

ห้างหุ้นส่วนของเขาเริ่มในปี 1956 ด้วยเงิน 105,000 เหรียญ
ซึ่งส่วนใหญ่มาจากลุง ป้า และญาติคนอื่น ๆ
มันปิดตัวลงในปี 1969 ด้วยการเติบโตปีละ 31% ทบต้น เงิน 10,000 เหรียญ
ในปี 1957 จะเพิ่มขึ้นเป็น 260,000 เหรียญในช่วงเวลา 13 ปีนั้น
ห้างหุ้นส่วนกำไรทุกปีไม่มีปีไหน
ขาดทุนรวมทั้งในปีที่ตลาดหุ้นตกหนักในปี 1962 และ 1966
หุ้นส่วนทุกคนจะได้รับรายงาน
ปีละครั้งที่จะบอกถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากทำสถิติการลงทุนและทำให้ทั้งหุ้นส่วนและตัวเขาค่อนข้างสบายแล้ว
บัฟเฟตต์ก็ทำ ในสิ่งที่ผิดธรรมดาอีกครั้งหนึ่งคือ เขาเลิก ในตอนนั้นเขาอายุ 39 ปี
เขาบอกว่ามันยากขึ้นและยากขึ้นเรื่อย ๆ
ในการที่จะหาหุ้นดี ๆ และแน่นอน แรงกระตุ้นของเขาก็อ่อนลงไปมาก
จากความสำเร็จของตนเอง

เพราะในขณะนั้นเขามีเงินถึงประมาณ 25 ล้านเหรียญและ
เขามีอย่างอื่นในชีวิตที่จะทำ และนี่คือภาคแรก
ของบัฟเฟตต์ที่เล่าโดย อดัม สมิทธ์เมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว

แน่นอน หลังจากที่เลิกห้างหุ้นส่วน และออกจากตลาดไป
ในช่วงที่ตลาดกำลังบูมมาก บัฟเฟตต์
ได้กลับมาอีกครั้งโดยอาศัยบริษัทเบิร์กไชร์ฮาธาเวย์
หลังจากที่ตลาดถล่มกลับลงมาแล้วและ
กลายเป็นภาคสองของบัฟเฟตต์ที่เรารู้จักกันมาก

บทเรียนบางประการสำหรับภาคแรกของบัฟเฟตต์ก็คือ
ข้อแรก ในช่วงแรกที่เม็ดเงินยังน้อยนั้น
ผลตอบแทนของเขาสูงถึง 31% ในขณะที่ผลตอบแทน
โดยเฉลี่ยของเขาทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 25% ซึ่งแปลว่า
ช่วงที่พอร์ตยังเล็ก ผลตอบแทนจะสูงกว่า
ช่วงพอร์ตใหญ่

สอง ในช่วงที่มีเงินน้อยนั้นเงินส่วนใหญ่ของบัฟเฟตต์
มาจากการบริหารเงิน ให้คนอื่นแล้วได้ส่วนแบ่งกำไร
ดังนั้นคนที่คิดจะเลิกจากการทำงาน
ที่มีรายได้แน่นอนแล้วมาลงทุนอย่างเดียวควรคิดให้หนัก

ข้อสาม การใช้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของบัฟเฟตต์ทั้งภาคหนึ่ง
และภาคสองดูเหมือนจะไม่เปลี่ยนแปลง
แม้ว่าเม็ดเงินและชื่อเสียงของบัฟเฟตต์จะเพิ่มขึ้นมาก
และนี่ก็เป็นข้อสังเกตและบทเรียนเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับ Value Investor
ที่กำลังเริ่มเดินทางตามผู้นำที่ยิ่งใหญ่

อิสรภาพทางการเงินโดย money.matethai.com

$$$ ลิ้งที่เกี่ยวข้อง $$$
อิสรภาพทางการเงิน ตอนที่ 0 -12