บัฟเฟตต์โดยมือเก่าหัดขับ



ตอนที่ 8 อิสรภาพทางการเงิน – บัฟเฟตต์โดยมือเก่าหัดขับ
เรื่องย่อ วอร์เรน บัฟเฟต์ ยังมองว่า
การลงทุนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิต
อย่างเช่นการตั้งบริษัท การเข้าซื้อบริษัท
หรือการทำกิจการใดๆ ในชีวิตคนเราจะมีได้ไม่มาก
คือเพียงไม่เกิน 20 ครั้งเท่านั้น

ดังนั้นแล้ว เขาจะพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบมาก
เพราะหากว่าผิดพลาดพลั้งไป อาจจะไม่มีโอกาสให้ได้ทำอีก
(ถ้าเกิด “เจ็บตัว” มากจนล้มแล้วลุกไม่ได้)

วอร์เรน บัฟเฟตต์
ภาพจากปกหนังสือ วอร์เรน บัฟเฟตต์

นอกจากนั้น บัฟเฟตต์ได้ตั้งกฏไว้ว่า:
1. อย่าขาดทุน
2. อ่านกฏข้อที่ 1 ให้ขึ้นใจ และพยายามทำให้ได้
3. การลงทุนแบบที่คิดว่าเราทำธุรกิจ เป็นการลงทุนอย่างฉลาดที่สุด
4. ธุรกิจที่ดี อาจจะไม่ได้หมายถึงการลงทุนที่ดี
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาที่เราได้ลงทุนไป

รายละเอียด วอร์เร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)
ในโลกของการลงทุน คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก วอร์เรน บัฟเฟตต์ เนื่องจากลูกศิษย์ของ
ปรมาจารย์ เบน เกรแฮม ผู้นี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลงทุนในรูปแบบของ
การยึดคุณค่าของกิจการเป็นหลักในการ “พิจารณา” ความถูกหรือแพงของราคาหุ้น

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียงน้อยนิด
หลังจากนั้นจึงได้รวบรวมเงิน จากสมัครพรรคพวกเพื่อการลงทุน
โดยตั้งตัวเป็นผู้จัดการกองทุนเสียเอง ซึ่งผลการ
ดำเนินงานก็เป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งถึงปี 1964 จึงเลิกกองทุนส่วนตัวนี้ไปเพราะว่า
ราคาหุ้นได้เพิ่มสูงขึ้นมาก (ซึ่งแน่นอน ว่าสูงกว่ามูลค่าจริงของกิจการ)
กระทั่งเริ่มมีความเสี่ยงสูงมากจึงเลิกล้มไป

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เข้าซื้อกิจการของ
บริษัทสิ่งทอชื่อว่าบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งต่อมาบางคนบอกว่า
เป็นความผิดพลาดอันเป็นกุศล เพราะต่อมาบริษัทนี้ก็ได้กลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์
ที่เข้าถือหุ้นในหลายๆบริษัท

แนวทางการลงทุนของ บัฟเฟตต์
จะมองว่าการซื้อหุ้นเป็นเหมือนการเข้าร่วมเป็นเจ้าของบริษัทด้วย
ดังนั้นเขาจะใช้มุมมองของผู้ที่จะเข้าเป็นเจ้าของธุรกิจ
มากกว่าการที่มองเห็นหุ้นเป็นเพียงสินค้า
(คือซื้อมา แล้วก็ขายไป) เขาจะต้องรู้แน่ชัดว่ากิจการนั้นทำอะไร
มีอะไรเป็นผลิตภัณฑ์ ใครเป็นลูกค้า
โครงสร้างรายจ่ายและรายได้เป็นเช่นไร อัตรากำไรเป็นเท่าไร มีคู่แข่งมากหรือไม่
แข่งกันด้วยอะไร (ราคา หรือความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์) เป็นต้น

ดังนั้น บัฟเฟตต์ จะไม่ค่อยลงทุนในกิจการที่ซับซ้อน
จนตัวเขาเองไม่สามารถเข้าใจได้ เขาเองยังบอกว่า
เมื่อซื้อหุ้นแล้ว แม้กระทั่งตลาดจะปิดไปสัก 10 ปีก็คงไม่รู้สึกอะไร
นั่นคือเขาไม่ได้สนใจในตลาดเลย
เนื่องจากมั่นใจในธุรกิจที่ได้ลงทุนไป และไม่จำเป็นต้องให้ใครมารู้เห็นด้วย
(คือไม่สนใจราคาหุ้นในตลาดนั่นเอง)

นอกจากนั้น วอร์เรน บัฟเฟต์
ยังมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิต
อย่างเช่นการตั้งบริษัท การเข้าซื้อบริษัท
หรือการทำกิจการใดๆ ในชีวิตคนเราจะมีได้ไม่มาก
คือเพียงไม่เกิน 20 ครั้งเท่านั้น
ดังนั้นแล้วเขาจะพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบมาก
เพราะหากว่าผิดพลาดพลั้งไป อาจจะไม่มีโอกาสให้ได้ทำอีก
(ถ้าเกิด “เจ็บตัว” มากจนล้มแล้วลุกไม่ได้)

หลักการเลือกลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์:
1. เป็นธุรกิจหรือบริษัทที่ไม่ซับซ้อน กิจการประเภทง่ายๆ ไม่วุ่นวายนี้ จะสามารถบริหารจัดการ
ได้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคนิคบุคคลากรพิเศษมากมายนัก รวมทั้งตัวแปรในการทำธุรกิจ
ก็ไม่มาก ผลที่ได้คือมีความผันผวนต่ำ สามารถทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างคงเส้นคงวา



2. เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมแข็งแกร่ง เช่นมียี่ห้อหรือตราสินค้าที่แข็งแกร่ง มีการบริการเป็นพิเศษ
ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ เรียกว่ามี “ค่าความนิยม” สูง ทำให้ไม่ต้องแข่งขันกันด้วยราคา แม้ว่าจะมีการ
ปรับราคาบ้าง หรือว่าราคาสูงกว่าคู่แข่งบ้าง ลูกค้าก็ยังยินดีที่จะซื้อหาอยู่เช่นเดิม

3. สามารถคาดเดาได้ คือสามารถคาดเดาผลการดำเนินงานได้ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากการ
ที่ไม่ซับซ้อนของธุรกิจนี่เอง ทำให้รายจ่าย รายได้เป็นแบบตรงไปตรงมาและขึ้นอยู่กับไม่กี่ปัจจัย

4. ผลตอบแทนจากส่วนของเงินลงทุนสูง (ROE) ส่วนของเงินลงทุนนี้ ก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ
Equity ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง บัฟเฟตต์ ให้ความสำคัญกับตัวเลขนี้ค่อนข้างมาก กล่าวคือน่าจะต้อง
มากกว่า 12% สำหรับธุรกิจประเภทผลิตสินค้า แต่หากเป็นธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว ค่าตัวเลขนี้
ปกติจะสูงมาก บัฟเฟตต์ จึงแนะนำให้ดูที่ตัวเลขของผลตอบแทนรวมของสินทรัพย์ (ROA)
ซึ่งหากว่าสูงกว่า 1% แล้วก็ถือว่าดี

5. มีกระแสเงินสดที่ดี ธุรกิจที่ดี ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนสูงมากในการดำเนินงานและ
รักษาสถานภาพในตลาดเพื่อการแข่งขันไว้ได้ ทั้งนี้ จะต้องขึ้นกับตัวของลักษณะธุรกิจ, สินค้า,
และบริการของธุรกิจนั้นเองเป็นหลัก

6. มีผู้บริหารที่ดี เห็นแก่ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ธุรกิจที่ดี มีธรรมชาติของธุรกิจที่ดี
เมื่อมีผู้บริหารที่ดีเข้ามาบริหาร ก็ย่อมเหมือนเสือติดปีก ทำให้บริษัทสามารถเจริญก้าวหน้าไปได้ไกล
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้บริหารเหล่านั้น ตระหนักถึงการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นแล้ว
ย่อมจะทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้าไปได้มาก

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นคนที่คิดว่า
ในการลงทุนหรือซื้อของ จะต้องมีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัย
เอาไว้ด้วย เพราะหากเราได้เผื่อค่านี้เอาไว้มากแล้ว
(คือเผื่อทางด้านมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ กับราคาที่ซื้อ)
ครั้นคราวจะขาดทุน ก็จะไม่มากนัก
มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ บัฟเฟตต์ มักจะใช้เครื่องมือคำนวณ
ทางการเงินที่เรียกว่า “วิธีส่วนลดกระแสเงินสด” (Discount Cash Flow)
ในการหามูลค่าของกิจการ

ซึ่งจะเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุน
ที่ปราศจากความเสี่ยงเช่นกับ T-Bill
(ก็พันธบัตรรัฐบาลหรือ Government Bond นั่นแหละ ผมเรียกให้เท่ห์ไปอย่างนั้นเอง)
หากว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่มากๆ บัฟเฟตต์ ก็จะพิจารณาเข้าซื้อหุ้นนั้นหรือ
แม้กระทั่งทั้งบริษัทได้

แต่ ระดับป๋า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ยังอาจจะขายหุ้นได้ถ้า:
1. มูลค่าที่แท้จริงของกิจการไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น นั่นคือไม่มี Contribute
จากการดำเนินงานเมื่อเวลาผ่านไป

2. ราคาตลาดของกิจการ (ราคาหุ้นนั่นแหละ) สูงเกินกว่ามูลค่าของกิจการไปมาก
อันนี้ บัฟเฟตต์ อาจจะขายหุ้นออกมา และซื้อกลับคืนเมื่อราคาตกต่ำลงมาอีกครั้งหนึ่ง
เนื่องจากเขาเชื่อว่า เมื่อราคาสูงเกินไป มันจะต้องกลับมาอยู่ที่พื้นฐานของมันเสมอ

กฏของป๋า:
1. อย่าขาดทุน
2. อ่านกฏข้อที่ 1 ให้ขึ้นใจ และพยายามทำให้ได้
3. การลงทุนแบบที่คิดว่าเราทำธุรกิจ เป็นการลงทุนอย่างฉลาดที่สุด
4. ธุรกิจที่ดี อาจจะไม่ได้หมายถึงการลงทุนที่ดี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาที่เราได้ลงทุนไป

นอกจากแนวความคิดต่างๆข้างต้นที่เป็นประโยชน์แล้ว
ยังมีตำรับตำราอีกหลายเล่มที่กล่าวถึง
การคิดคำนวณมูลค่าของกิจการ ซึ่งผมมือเก่าหัดขับ
จะได้นำมาเสนอให้ท่านได้อ่านในคราวต่อๆ
ไปเมื่อมีโอกาสครับ
โดย มือเก่าหัดขับ

อิสรภาพทางการเงินโดย money.matethai.com

$$$ ลิ้งที่เกี่ยวข้อง $$$
อิสรภาพทางการเงิน ตอนที่ 0 -12