วางยุทธศาสตร์ชาติ 2



$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$
เรื่อง การวางยุทธศาสตร์ชาติตามแนวพระราชดำริ
การวางยุทธศาสตร์ชาติ ตอนที่ 2
$$$ การลงทุน เศรษฐกิจ หุ้น และอิสรภาพทางการเงิน | Money $$$
$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$

เมื่อประสบ วิกฤตราคาน้ำมัน ถึงที่สุดแล้วเราน่าจะดำเนินยุทธศาสตร์ของประเทศตาม แนวพระราชดำริ ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ประมวลมาโดยสังเขปข้างล่างนี้

เพราะที่ผ่านมาตลอดระยะ 4 – 6 ปีแรกของ พรรคไทยรักไทย เราจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียง – ตามแนวพระราชดำริ แม้จะถูกนำมาใช้ก็เป็นเพียง ยุทธวิธี ทั้งในส่วนของ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมือง ลักษณะของ ยุทธศาสตร์ ยัง ไม่ชัดเจน

แน่นอนละว่าการเปิด Motto และ Gimmick ใหม่ ๆ ที่ติดหูติดตาชาวบ้านนั้นแน่นอนละว่า ได้ผลทางการเมือง แต่ก็ยัง ห่างหัวใจ ของคำว่า พอเพียง หรือ พอมีพอกิน ที่ไม่ได้เน้น ตัวเงิน, ตัวเลข GDP เลย

•• พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเป็นเสมือน พ่อ ของ คนไทยทั้งมวล ขอได้โปรดตั้งสติย้อนระลึกดูเถิดนับแต่เกิด วิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อ ปี 2540 พระองค์ทรงพระราชทานแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง มาแล้วกี่ครั้ง

•• ความหมายของ เศรษฐกิจพอเพียง, เศรษฐกิจพอมีพอกิน ตามแนวพระราชดำริเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับคำว่า เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ ในหนังสือ Small is Beautiful : Economics as if People Mattered ของนักเศรษฐศาสตร์กระแสรองนามกระเดื่อง อี. เอฟ. ชูเมกเกอร์ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเป็นที่ โด่งดังในวงวิชาการ เมื่อ ปี 2516 ถือว่างานในระดับ การปฏิวัติแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์

แม้เวลาจะผ่านไป 33 ปี แต่กล่าวได้ว่ายังเป็นเนื้อหาที่ทันยุคทันสมัยอย่างยิ่ง บทที่ 4 ที่มีชื่อว่า Buddhist Economics พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรง พระราชนิพนธ์แปล ไว้ภายใต้ชื่อ “…เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา บทที่ 4 เล็กดี รสโต.” เพียงแต่ ไม่ได้แพร่หลายในวงกว้าง จนใจที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ยังไม่มี พระราชนิพนธ์แปลองค์นั้น จึงไม่อาจจะนำมาเผยแพร่บอกต่อกันได้

•• แต่หากใครสนใจ Buddhist Economics ในมุมมองของ อี. เอฟ. ชูเมกเกอร์ อาจหาอ่านสำนวนแปลของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่ตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ Small is Beautiful : Economics as if People Mattered ฉบับแปลภาษาไทยโดย สมบูรณ์ ศุภศิลป์ ในชื่อ จิ๋วแต่แจ๋ว : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ได้

•• เป็นสำนวนแปลของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เคยเสนอให้ประเทศไทย ถอยหลัง – ตั้งสติ เมื่อ ปี 2542 – 2543 เพื่อเก็บรับบทเรียนจาก พระราชดำรัสและพระราชนิพนธ์ทุกองค์ ที่ทรงพระราชทาน Bangkok Consensus หรืออาจแปลเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า ฉันทมติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาร่วมกันขบคิดให้เป็น ยุทธศาสตร์ใหม่ มาเสริมหรือทดแทน ฉันทมติวอชิงตัน หรือ Washington Consensus ให้ได้

•• จากตอนหนึ่งที่ อี. เอฟ. ชูเมกเกอร์ กล่าวไว้ใน Buddhist Economics นี้ว่า “…โดยเหตุที่ทรัพยากรทางกายภาพมีอยู่โดยจำกัดทุกแห่งหน หากมนุษย์หาทางสนองความต้องการแห่งตนด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างพอเหมาะพอควร ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าจักทำให้ไม่ต้องไปแย่งชิงกับผู้อื่นมากเหมือนกรณีที่มนุษย์ต้องพึ่งพาการใช้ทรัพยากรในอัตราสูงนี้ฉันใด ผู้ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นที่พึ่งพาตนเองได้มาก ย่อมมีส่วนก่อความรุนแรงขนานใหญ่ได้น้อยกว่าผู้ที่อยู่รอดได้ด้วยการพึ่งพาระบบการค้าทั่วโลกฉันนั้น.” ผู้ที่ได้สดับและทบทวน พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2540 ย่อมเห็นได้ว่าพระองค์ทรงขยายความได้อย่างเห็นภาพชัดเจนในเรื่อง การเดินทางของข้าว โปรดพิจารณา



•• ความอยู่รอดของประเทศไทย ณ วันนี้ไม่ได้อยู่เพียงแค่จะเอา วิชิต สุรพงษ์ชัย, วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ฯลฯ เข้ามาแทนที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือไม่อย่างไร “เซี่ยงเส้าหลง” เห็นว่าถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการให้เกิดฉันทมติร่วมกันสร้าง ยุทธศาสตร์ใหม่ – ฉันทมติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นมาทุกสิ่งทุกอย่างก็ เหลว แน่นอน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในบทความชิ้นล่าสุด กึ๋นที่แท้จริงในวิกฤตพลังงาน ว่า “…โดยรวม ๆ แล้ว วิกฤตพลังงานครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าที่จะตอบสนองเพียงแค่เรียกร้องการประหยัดพลังงานหรือดับไฟชั่วโมงละดวง อาจพูดได้ว่าเรากำลังยืนบนทางสองแพร่งที่จะเดินไปตกเหว หรือเดินไปสู่อนาคตใหม่ที่สะอาดกว่า พึ่งตนเองได้ และมีอนาคตที่มั่นคง ….

รัฐบาลเลือกที่จะดูดโอเลี้ยงรออยู่ตรงทางสองแพร่งนั้น แล้วแต่ทิศทางลมของโลกจะพัดพาให้ไปทางใดในอนาคต …. น่าประหลาดว่านี่คือรัฐบาลที่ชอบพูดเสมอว่าต้องคิดนอกกรอบ ต้องคิดล่วงหน้าให้ไกลกว่าเขาอย่างน้อยหนึ่งก้าว ฉะนั้นในแง่หนึ่ง วิกฤตพลังงานในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะเห็นกึ๋นอันแท้จริงของรัฐบาล ว่านอกกรอบก็ตาม คิดล่วงหน้าก็ตาม เอาเข้าจริงก็แค่กรอบและอนาคตที่ฝรั่งซึ่งกำลังช่วงชิงความคิดกระแสหลักของสังคมฝรั่งวางไว้ให้เท่านั้น.”

ในงานชิ้นนี้ท่านได้อ้าง พระราชดำรัส ว่าด้วย เศรษฐกิจพอเพียง ตอนที่พระองค์ทรงกล่าวถึง การเดินทางของข้าว ไว้ด้วย “เซี่ยงเส้าหลง” ขอให้อ่านในตอนกลางๆ ของ พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2540 ที่ได้อัญเชิญมาไว้ในวันนี้แล้ว

•• พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันไม่ใช่ทรงเป็นเพียงแค่ ประมุขของประเทศ เหมือน ประมุขของประเทศอื่น ๆ ในโลก หากแต่พระองค์ยังทรงเป็น ซีอีโอของประเทศ ทรงเป็น พระราชซีอีโอ อย่างแท้จริง

•• คำว่า พระราชาซีอีโอ มาจาก พระบรมราโชวาทพระราชทานแด่คณะผู้ว่าฯซีอีโอ เมื่อ วันที่ 8 ตุลาคม 2546 เป็นพระบรมราโชวาทองค์ที่ จับใจพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ หลังจากได้รับชมรับฟังบางตอนจาก ข่าวในพระราชสำนัก เมื่อ วันที่ 9 ตุลาคม 2546 ในพระบรมราโชวาทองค์นี้ทรงรับสั่งว่าพระองค์ท่านเป็น พระราชาซีอีโอ — ที่ไม่มีวันเกษียณ

ทรงปฏิบัติภารกิจมาตั้งแต่ ปี 2496 โดยเริ่มโครงการตามพระราชดำริแห่งแรกที่ เขาเต่า, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์ท่านทรงชี้แนะว่า หน้าที่ ของ ผู้ว่าฯซีอีโอ ไม่เหมือน ซีอีโอบริษัท เพราะ ไม่ต้องทำเงินให้บริษัท แต่จะต้อง สร้างความเจริญให้ประชาชนในพื้นที่

คือ ให้ประชาชนมีความสามารถที่จะทำมาหากินได้ หรือพูดง่าย ๆ คือ ทำให้ประชาชนรวย – ไม่ใช่ทำให้ตัวเองรวย จากนั้นพระองค์ท่าน ทรงเตือน ว่าที่ใคร ๆ ว่า เศรษฐกิจกำลังขึ้น นั้นที่ ขึ้นตาม ไปด้วยคือ การทุจริต

ความต่อไป “เซี่ยงเส้าหลง” คงไม่ต้องอัญเชิญมาตีพิมพ์ซ้ำเพราะประชาชนคนไทยทราบดีแล้วว่าพระองค์ ทรงแช่งผู้ทุจริต ไว้อย่างไรบ้าง

One thought on “วางยุทธศาสตร์ชาติ 2”

  1. วางยุทธศาสตร์ชาติ 1
    สูงสุดกลับสู่สามัญ Back to Basic
    จากการวางยุทธศาสตร์ชาติ ถึงตัวคุณ
    เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็เข้าใจได้
    เพื่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ของตัวท่านเอง
    และเงินในกระเป๋าท่าน …
    http://www.money.matethai.com/investment/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-1

Leave a Reply