เศรษฐกิจไทยจะมั่นคง



ประเทศกำลังพัฒนา มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบ
จากปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ
มากกว่าประเทศที่ร่ำรวย
เพราะ ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีเงิน ไม่มีวัตถุ
และไม่มีทรัพยากรทางปัญญาเช่นประเทศพัฒนาแล้ว

เรื่อง ในหลวงกับความมั่นคงไทย (2)
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์
“ประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มว่า
จะถูกกระทบจากความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมเร็วกว่า
และหนักกว่าประเทศร่ำรวย โดยคำจำกัดความ ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีเงิน
ไม่มีวัตถุ และไม่มีทรัพยากรทางปัญญาเช่นประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ สถาบันทางสังคมและการเมืองของประเทศเหล่านี้
มักจะเปราะบาง และเกิดความแตกแยกอย่างหนักจากความขัดแย้ง
ดังนั้น จึงเป็นไปได้อย่างมากว่า
สังคมประเทศกำลังพัฒนาจะไม่สามารถรับมือ
หรือจัดการกับความล่มสลายด้านสิ่งแวดล้อมได้”
Thomas F. Homer-Dixon
“On the Threshoid” (1992)

คํากล่าวของ โฮเมอร์-ดิกซัน
ในข้างต้นไม่เกินเลยจากความเป็นจริงของประเทศกำลังพัฒนาแต่อย่างใด
เพราะประเทศกำลังพัฒนาในสถานการณ์ปัจจุบัน
มีปัญหาร่วมกันอยู่ประการหนึ่งก็คือปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

ความเสื่อมโทรมเช่นนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
เพราะคนนอกจากจะต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนแล้ว
พวกเขายังต้องอยู่กับระบบนิเวศน์ที่เสื่อมถอยลงด้วย
การสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม
จึงเป็นเส้นทางสำคัญในการยกระดับชีวิต
ความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท
และที่สำคัญก็คือการดำเนินการเช่นนั้น
จะเป็นการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้เกิดขึ้นด้วย

ในท่ามกลางปัญหาเช่นนี้
ความพยายามของพระองค์ท่าน
ต่อการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ได้ปรากฏในอีกลักษณะหนึ่ง
ด้วยการที่พระองค์ท่านทรงนำเสนอถึงแนวคิดในเรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียง”
ซึ่งก็อาจตีความได้ว่า
พระองค์ทรงพยายามทำให้หมู่บ้านในชนบทไทยสามารถดำรงอยู่ได้ในทางเศรษฐกิจ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ
เป็นการสร้างความมั่นคงของหมู่บ้านเพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ
ซึ่งก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงในระดับพื้นฐานให้แก่สังคมไทย

ความเข้มแข็งของหมู่บ้านเช่นนี้
จึงไม่เพียงแต่จะเป็นปราการให้สังคมไทย
สามารถรับมือได้กับการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์จากภายนอก
ที่ไหลลงตั้งแต่ระดับชาติลงไปสู่ส่วนต่างๆ ของสังคม
ที่แม้ชนบทไทยที่ห่างไกล ก็ไม่ได้อยู่พ้นจากโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น
อีกทั้งความเข้มแข็งของหมู่บ้านในชนบทไทย
จะยังมีส่วนอย่างมากต่อการทำให้ผู้คนในระดับล่าง
(หรือที่เรียกกันว่า ระดับรากหญ้า) มีชีวิตที่ดีขึ้น

อันจะเป็นองค์ประกอบอย่างสำคัญต่อเสถียรภาพ
ทั้งทางการเมืองและสังคมของประเทศในอนาคตเองอีกด้วย

ความสนพระทัยอย่างมากของพระองค์ท่านในเรื่องของระบบนิเวศน์
ยังทำให้พระองค์ให้ความสนใจกับเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในอีกประเด็นหนึ่งก็คือ
เรื่องของอากาศและสภาวะความเปลี่ยนแปลงของอากาศ

ในทางภูมิศาสตร์สังคม (Social Geography) เราทราบกันดีว่า
สภาพอากาศเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อความเป็นไปของชีวิตในชนบท
ซึ่งก็ไม่ใช่แต่เพียงในกรณีของประเทศไทยเท่านั้น ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ความสนพระทัยในเรื่องสิ่งแวดล้อมของพระองค์
จึงถูกขยายไปสู่เรื่องของอากาศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของฝน และพายุฝน

หลายต่อหลายครั้งที่มีเรื่องเล่าถึง
การประมาณสถานการณ์ของพระองค์ท่านที่เป็นไปอย่างถูกต้อง
และแม่นยำในเรื่องของการเกิดพายุ
ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมจะกลายเป็น
ปัญหาอุทกภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากได้ง่าย

ความมั่นคงในประเด็นเช่นนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ แต่ว่าที่จริง
รัฐก็เตรียมตัวรับกับภัยพิบัติใน 2 กรณีใหญ่เสมอมา คือ
ภัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่น สงคราม และการก่อการร้าย เป็นต้น
และภัยที่เกิดจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย หรือวาตภัยก็ตาม
ดังตัวอย่างของความรุนแรงของธรรมชาติอย่างหนัก เช่น กรณีสึนามิ
ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่ประเด็นเช่นนี้ก็มักจะถูกจัดอยู่ในเรื่องการป้องกันภัยพิบัติ
มากกว่าจะถูกสร้างกรอบคิดด้านความมั่นคงรอบรังไว้
ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ
ปัญหาสภาวะอากาศถูกมองเป็นเพียงเรื่องของอากาศในตัวเอง
และไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ในเรื่องของผลกระทบด้านความมั่นคง
เพราะความสนใจถูกรวบศูนย์อยู่กับปัญหาด้านการทหารเป็นสำคัญ

นักความมั่นคงใหม่บางส่วนจึงแยกประเด็นความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม
ออกมาเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของอากาศกับความมั่นคง
(Climate Changes and National Security)
ซึ่งหัวข้อเช่นนี้อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ แต่โดยเนื้อหาแล้ว
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อรัฐมาแล้วในหลายกรณี
หากแต่การศึกษาในอดีต
มักจะไม่รวมเอาประเด็นเช่นนี้มาไว้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความมั่นคง



ฉะนั้น การที่ในหลวงทรงให้ความสนพระทัยกับเรื่องเช่นนี้ก็คือ
การเปิดโลกทรรศน์ของนักความมั่นคงไทยว่า
ความเปลี่ยนแปลงสภาวะของอากาศก็เป็นอีกหนึ่งในปัญหาความมั่นคงด้วย
ดังจะเห็นได้จากผลกระทบของเอลนีโย หรือลาณิญา ที่เกิดกับภูมิภาคต่างๆ
ของโลกเช่นในปัจจุบัน

ประเด็นที่สำคัญอีกประการในกรอบของปัญหาความมั่นคงใหม่ก็คือ
บทบาทของพระองค์ท่านกับเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security)
ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า หากมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า
พระองค์ท่านให้ความสนใจอย่างมากกับปัญหาพลังงานทางเลือก (alternative energy)
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอธานอล หรือไบโอดีเซลก็ตาม

นอกจากนี้
พระองค์ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มการผลิตเอธานอล
โดยการติดตั้งเครื่องสาธิตโดยใช้วัตถุดิบในการผลิตจากกากน้ำตาลในปี 2528
และพัฒนาจนสามารถผลิตพลังงานชนิดนี้
แบบที่มีความบริสุทธิ์สูงขึ้นได้ในปี 2543

จากการศึกษาทดลองของพระองค์ท่าน
ทำให้เราอาจถวายพระนามให้กับพระองค์ได้ว่า
“พระราชบิดาพลังงานทางเลือกของไทย”

วันนี้โลกกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 3
ซึ่งวิกฤตครั้งนี้ เห็นได้ชัดจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
และต่างจากสองครั้งก่อนอย่างมากก็คือ
ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์
และไม่มีแนวโน้มที่จะลดต่ำลง เพราะในอดีตนั้น
ราคาน้ำมันก่อนจะก้าวเข้าสู่ ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543)
จะมีเสถียรภาพที่ประมาณ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันอยู่ประมาณ 70 เหรียญต่อบาร์เรล (หากคิดหยาบๆ
ก็คือ ประมาณ 3 เท่าครึ่งของราคาก่อนปี 2000) ซึ่งเป็นคำตอบในตัวเองว่า
ทุกสังคมจะต้องคิดในเรื่องของพลังงานทางเลือกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

สถานการณ์ความมั่นคงด้านพลังงานเช่นปัจจุบัน
จึงสะท้อนให้เห็นถึงพระราชดำริของพระองค์ท่านที่นำสมัยมากๆ
เพราะสังคมไทยในช่วงหลังจากวิกฤตน้ำมันครั้งแรกปี 2516 นั้น
ก็ยังไม่มีอัตราการบริโภคน้ำมันภายในที่สูงเช่นปัจจุบัน
หรือสถานการณ์การบริโภคน้ำมันของโลกเองก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าต้องเป็นกังวล
ประกอบกับน้ำมันยังคงเป็นพลังงานที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ

แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของพระองค์ท่าน
โครงการพลังงานทางเลือกจึงเกิดขึ้นในพระราชวังสวนจิตรลดา
และสะท้อนให้เห็นสายพระเนตรที่ยาวไกล
ในการประมาณสถานการณ์ความมั่นคงด้านพลังงานที่โลกในอนาคต
รวมประเทศไทยด้วยนั้น จะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์พลังงานอย่างแน่นอน
อีกทั้งพระองค์ท่านได้ทรงศึกษาทดลองในปัญหาพลังงานทางเลือกมาโดยตลอด

นอกเหนือจากประเด็นความมั่นคงเช่นที่กล่าวในข้างต้นแล้ว
พระองค์ท่านได้ทรงสร้างแนวคิดในเรื่องของ “การสนทนาระหว่างอารยธรรม”
(Dialogue Among Civilizations)
ให้เป็นตัวอย่างแก่รัฐบาลและข้าราชการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่
ในพื้นที่ที่ประชาชนมีความแตกต่างทางศาสนาและความเชื่อมาโดยตลอด

การเสด็จเยือนของพระองค์และสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นภาพปกติที่เราได้เห็นเสมอมา
แต่ประเด็นสำคัญก็คือภาพของพี่น้องชาวมุสลิมที่ได้ให้ความเคารพต่อพระองค์ท่านอย่างจริงใจ
โดยไม่มีศาสนาเป็นอุปสรรคขีดกั้น

อีกทั้งภาพและเรื่องราวของพระองค์
ในการเสด็จเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้สะท้อนให้เห็นถึงการ “เข้าถึง”
ในจิตใจและความรู้สึกของพสกนิกรที่เป็นศาสนิกต่างความเชื่อได้เป็นอย่างดี
และเป็นแบบอย่างที่คนทำงานความมั่นคง
ในภาคใต้ต้องน้อมรับใส่เกล้าฯ ไว้ศึกษา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน
การเสด็จไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มมาตั้งแต่ก่อนที่
สถานการณ์ระหว่างประเทศจะปรากฏ
ให้เห็นถึงแนวโน้มของสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันอย่าง
แซมมวล ฮันติงตัน เสนอเป็นกรอบคิดทางทฤษฎีในเรื่องของ
“การปะทะทางอารยธรรม” (The Clash of Civilizations) เสียอีก

และอย่างน้อยก็เห็นได้ชัดเจนว่า
การเสด็จเยี่ยมเยือนพสกนิกรของพระองค์ที่เป็นพี่น้องมุสลิมนั้น
ยังเป็นการเชื่อมให้พี่น้องเหล่านั้น
เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย
ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่านอีกด้วย

กล่าวคือ พระองค์ไม่เคยถือเอาศาสนา
เป็นข้อกำหนดในการช่วยเหลือประชาชนต่างความเชื่อแต่อย่างใด
จนอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็น “ข้อต่อ” ที่สำคัญของรัฐไทย
(ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ)
กับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สิ่งที่กล่าวในข้างต้น
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากกรอบทางทฤษฎีของวิชาความมั่นคงศึกษาแล้ว
จะเห็นได้ชัดเจนถึง
บทบาทของในหลวงในการต่อสู้กับปัญหาความมั่นคงใหม่ที่รัฐและสังคมไทยต้องเผชิญ
พระองค์ดำเนินการเช่นนี้ก็เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีชีวิตอยู่ด้วยความมั่นคงอย่างยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั่นเอง
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

สุดท้ายนี้ เศรษฐกิจไทยจะมั่นคง หากพวกเราคนไทย
ได้ศึกษา และได้ทำตาม แนวทางที่ในหลวงทรงได้วางไว้ให้พวกเรา …

One thought on “เศรษฐกิจไทยจะมั่นคง”

  1. วางยุทธศาสตร์ชาติ ตอนที่ 1 – 5
    $$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$
    เรื่อง การวางยุทธศาสตร์ชาติตามแนวพระราชดำริ
    การวางยุทธศาสตร์ชาติ 5 ตอนจบ
    $$$ การลงทุน เศรษฐกิจ หุ้น และอิสรภาพทางการเงิน | MoneyBKK.Com $$$
    $$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$

    วางยุทธศาสตร์ชาติ 1
    สูงสุดกลับสู่สามัญ Back to Basic
    จากการวางยุทธศาสตร์ชาติ ถึงตัวคุณ
    เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็เข้าใจได้
    เพื่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ของตัวท่านเอง
    และเงินในกระเป๋าท่าน …
    http://www.money.matethai.com/investment/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-1

Leave a Reply